บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเพณี/วัฒนธรรม/เทศกาล

ประเพณี/วัฒนธรรม/เทศกาล

        จังหวัดภูเก็ตในอดีตเจ้าถิ่นเดิม ได้แก่ เงาะซาไก และชาวน้ำ (ชาวเล หรือ ชาวไทยใหม่) ต่อมาได้มีชาวอินเดีย ชาวไทย และชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามา สำหรับชาวไทยได้มีการอพยพเข้ามาอาศัยมากขึ้น ทำให้สามารถยึดครองภูเก็ตได้มากกว่าชาติอื่น และในที่สุดชาวไทยที่อาศัยอยู่ก็ได้นำเอาวัฒนธรรมของชาติต่างๆ มาปรับปรุงและดัดแปลง จนกระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
        จังหวัดภูเก็ต มีการจัดงานเทศกาล ประเพณีที่สำคัญเป็นประจำทุกปี อันได้แก่ งานท้าวเทพกระษัตรี - ท้าวศรีสุนทร ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ในงานจะมีการบวงสรวงวีรสตรีทั้งสองท่าน การจัดงานเฉลิมฉลอง และมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อเป็นการสดุดีวีรกรรมของท่าน และรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่สองวีรสตรีสามารถปกป้องเมืองถลาง ให้รอดพ้นจากข้าศึกพม่า นอกจากนี้จังหวัดภูเก็ตยังมีประเพณีต่างๆ ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณและยึดถือปฏิบัติกันประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

ประเพณีที่ปฏิบัติประจำทุกปีของจังหวัดภูเก็ต

ประเพณีตรุษจีน
         เป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน วันตรุษจีนตรงกับ วันแรกของเดือน 1 ของจีน หรือ เดือน 2 เดือน 3 ทางจันทรคติ มีพิธีกรรมทั้งหมด 3 วัน โดย
- วันแรก คือ วันที่ 29 เดือน 12 ของจีน มีการเตรียมอาหาร และ ของไหว้ต่าง ๆ ไว้สำหรับวันรุ่งขึ้น
- วันที่สอง คือ วันที่ 30 เดือน 12 ของจีน มีการไหว้ 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า จะมีการไหว้เทพเจ้า และช่วงบ่ายจะมีการไหว้บรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีไหว้ จะมีการรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว และมีการแจก " อั่งเปา" (แต๊ะเอีย) ให้แก่เด็ก ๆ
- วันที่สาม คือ วันที่ 1 เดือน 1 ของจีน ชาวจีนจะแต่งกายด้วยชุด ใหม่เพื่อเป็นสิริมงคล ไปไหว้พระที่ศาลเจ้า และวันนี้ถือว่าเป็น วันเที่ยว อาจจะไปเยี่ยมญาติในท้องถิ่นอื่น ซึ่งในวันนี้จะไม่มีการ ทำงานแต่อย่างใด จะไม่มีการพูดคำหยาบ หรือดุด่าว่ากล่าวกัน

ประเพณีไหว้เทวดา
         เป็นการไหว้ต้อนรับ และขอบคุณเทวดาที่ช่วยพิทักษ์รักษามนุษย์ เวลาของการไหว้จะเริ่มขึ้น หลังเที่ยงคืนของ วันที่ 8 เดือน 1 ของจีนไปแล้ว หรือช่วงเวลาเริ่มต้นของ วันที่ 9 เดือน 1 ของไหว้ที่สำคัญ คือ ต้นอ้อย 2 ต้น และของคาวหวานต่าง ๆ

ประเพณีสารทจีน
         เป็นเดือนที่ชาวจีนถือว่า ยมบาลมีการปล่อยภูตผี หรือวิญญาณ ต่าง ๆ ให้ออกมารับส่วนบุญประจำปี มีการไหว้บรรพบุรุษของแต่ละครอบครัว ในวันที่ 15 เดือน 7 จีน มีการ " ไป่ปั๋ว " หรือ จัดตกแต่งเครื่องเซ่นไหว้ภูตผีและวิญญาณ ด้วยการทำขนม และแกะสลักผลไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ และของ ไหว้ที่สำคัญคือ "อั่งกู้" หรือ ขนมเต่าสีแดง ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีไส้ถั่วเหลืองกวน หรือ ทำจากแป้งสาลีไม่มีไส้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ของอายุยืนนาน และมีการไหว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
- ในวัน 17 ค่ำ เดือน 6 ของจีน ณ ศาลเจ้าบ้านกะทู้
- ในวัน 13 ค่ำ เดือน 7 ของจีน ณ บริเวณบ้านตลาดใหญ่
- ในวัน 16 ค่ำ เดือน 7 ของจีน ณ ศาลเจ้าบ้านตลาดเหนือ
- ในวัน 17-18 ค่ำ เดือน 7 ของจีน ณ ตลาดสดเทศบาล
- ในวัน 21 ค่ำ เดือน 7 ของจีน ณ บ้านอ่าวเก (ถนนตะกั่วป่า)
- ในวัน 19-30 ค่ำ เดือน 7 ของจีน ณ ศาลเจ้าพ้อต่อก้อง (บ้านบางเหนียว )

งานพ้อต่อ
         เป็นงานประเพณีของชาวภูเก็ตที่มีเชื้อสายจีน จะมีพิธีในช่วงเดือน 7 ของจีนหรือเดือน 9 ของไทย โดยมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องบวงสรวง เป็นขนมชนิดหนึ่งทำด้วยแป้ง เป็นรูปเต่าขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ทาสีแดง ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน ดังนั้นการไหว้เต่า จึงเป็นการต่ออายุให้ตนเองและถือกุศลที่ยิ่งใหญ่

ประเพณีไหว้พระจันทร์
         คือการไหว้เทพเจ้าด้วยขนมไหว้พระจันทร์(ตงชิวเปี้ย ) และ ขนมโก๋ ในวัน 15 ค่ำ เดือน 8 ของจีน

ประเพณีกินเจ
         เป็นการถือศีลชำระจิตใจ และงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด มีระยะเวลา 9 วัน เริ่มตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 จนกระทั่งถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี ซึ่งอยู่ในช่วง เดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นงานประเพณีซึ่งชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในภูเก็ต ยึดถือปฏิติมาช้านานตั้งแต่ พ.ศ. 2368 จนถึงทุกวันนี้ จะมีพิธีกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ พิธีอัญเชิญพระ พิธีลุยไฟ พิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีส่งพระ เป็นต้น งานเทศกาลนี้นับเป็นงานที่ได้รับความสนใจ และเลื่อมในศรัทธาทั้งจากชาวไทย และชาวต่างประเทศมากที่สุดงานหนึ่ง

ประเพณีลอยเรือ
         โดยกลุ่มชาวเลที่หาดราไวย์และบ้านสะปำ จะมีพิธีลอยเรือในวันขึ้น 13 ค่ำ กลุ่มชาวเลที่เกาะสิเหร่จะมีพิธีลอยเรือ ในวันขึ้น 14 ค่ำ และกลุ่มชาวเลที่แหลมหลา (ทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ต) จะมีพิธีลอยเรือในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และ เดือน 11 ซึ่งถือเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวเล คล้ายกับพิธีลอยกระทงของชาวไทย มีการสร้างเรือจากไม้ระกำ ตัดผมตัดเล็บ และทำตุ๊กตาไม้แทนคน ใส่ลงไปในเรือแล้วนำไปลอย เพื่อนำเอาความทุกข์โศกเคราะห์ร้ายต่างๆ ออกไปกับทะเล แล้วมีการร่ายรำรอบเรือ หรือที่เรียกว่า รำรองเง็ง นั่นเอง

ประเพณีสารทไทย (เดือนสิบ)
         เป็นเดือนที่ชาวไทยมีความเชื่อว่า ยมบาลมีการปล่อยภูตผี และวิญญาณต่าง ๆ ให้ออกมารับเอาส่วนบุญ จึงมีการนำของ คาวหวานต่าง ๆ มาทำบุญและให้ทานกันที่วัด สำหรับขนมที่ สำคัญในพิธี คือ ขนมลา ขนมเทียน ขนมท่อนใต้ ขนมต้ม ฯลฯ ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 และ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งแต่ละวัดจะกำหนดทำพิธีเพียงหนึ่งวัน แตกต่างกันไป

งานท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
         ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการจัดงานเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่สองวีรสตรีสามารถปกป้องเมืองถลาง ให้รอดพันจากข้าศึกพม่าและสดุดีในวีรกรรมของท่าน

ประเพณีเช็งเม้ง
         เป็นการรวมญาติครั้งใหญ ่เพื่อทำกิจกรรมบูชาบรรพบุรุษร่วมกัน ส่วนใหญ่จะตรงกับ วันที่ 5 เมษายน ของทุกปี แต่ในการไหว้ นั้นมีระยะเวลาที่สามารถไหว้ได้ คือ ก่อนวันที่ 5 เมษายน 10 วัน และหลังวันที่ 5 เมษายน 10 วัน

ประเพณีปล่อยเต่า
         เป็นการทำบุญ และพระสวดมนต์ให้ศีลให้พรเสร็จ ก็จะมีการปล่อยเต่าลงทะเล ณ อุทยานแห่งชาติหาดไนยาง ในวันที่ 13 เมษายน ( วันสงกรานต์ ) ของทุกปี

เทศกาลอาหารทะเล
         เดือนพฤษภาคมของทุกปีจัดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่อาหารทะเล ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ต ชักชวนให้นักท่องเที่ยว เดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตในฤดูฝน กิจกรรมของงานมีการประกวด ขบวนแห่ทรัพยากรท่องเที่ยวทางทะเล การออกร้านจำหน่ายอาหารทะเล การสาธิตอาหารประจำภาค การแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคต่างๆ

ภูเก็ตลากูน่าไตรกีฬา
         จัดการแข่งขันในช่วงเดือนตุลาคม ของทุกปี


ประเพณีเดินเต่า
         เป็นการสังเกตเต่าขึ้นมาวางไข่ริมชายหาด ในตอนกลางคืนถึงย่ำรุ่ง(ช่วงน้ำทะเลขึ้น) ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือฤดูเต่าวางไข่ เพื่อดูเต่าตัวใหญ่ ๆ ที่หาดูได้ยาก

เทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวภูเก็ต
         ตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน ณ หาดป่าตอง เพื่อต้อนรับฤดูการท่องเที่ยวที่เวียนมาถึงอีกครั้ง และเป็นการส่งเสริมความสามัคคี ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ หน่วยงานราชการและประชาชน ในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิพิธีตักบาตรในตอนเช้า การแข่งขัน กีฬาทางน้ำ การประกวดสาวงาม จากนักท่องเที่ยวชาติต่างๆ เป็นต้น

งานแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทาน
         วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2530 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ และหลังจากนั้นจึงถือกำหนดจัดงานขึ้น ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี โดยมีเรือใบจากนานาประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการแข่งขันบริเวณหาดในหาน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

        นอกจากประเพณีประจำปีดังกล่าวแล้วจังหวัดภูเก็ตยังมีประเพณี - วัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอีกมากมาย อันได้แก่ การอุปสมบท การแต่งงาน เป็นต้น

ประเพณีและวัฒนธรรมอื่นๆ

การอุปสมบท
         ชาวภูเก็ตในปัจจุบันจะนิยมรวบรัดพิธีอุปสมบท โดยให้มีการโกนผมนาคในตอนเช้าตรู่ของวันอุปสมบท และทำพิธีอุปสมบทในตอนสาย เมื่อเสร็จพิธีอุปสมบทในเวลาฉันเพลก็จะเลี้ยงภัตตาหารเพลพระภิกษุสงฆ์ในวัด เพื่อเป็นการฉลองพระภิกษุที่บวชใหม่ไปพร้อมกัน

การแต่งงาน
         ชาวภูเก็ตจะมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีนร่วมกัน นั่นคือเมื่อมีการสู่ขอและกำหนดวันแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ในตอนเช้าของวันแต่งงานเจ้าบ่าวจะแห่ขันหมากและของหมั้นต่าง ๆ มาบ้านเจ้าสาว พร้อมการจุดประทัดต้อนรับเจ้าบ่าวเมื่อมาถึงบ้านเจ้าสาว และเมื่อมีการหมั้นเจ้าสาวเรียบร้อยแล้ว เจ้าบ่าวและเจ้า สาวจะต้องไปสักการะเจ้าแม่กวนอิม (ปุดจ้อ) ณ ศาลเจ้าปุดจ้อ และไปไหว้หลวงพ่อแช่ม ณ วัดฉลอง เมื่อเสร็จพิธีดังกล่าวแล้วก็จะเป็นการเลี้ยงฉลองการแต่งงาน ซึ่งก่อนการเลี้ยงฉลอง จะมีการเชิญญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายรับการคาราวะน้ำชาจากเจ้าสาว และเจ้าบ่าว เรียกว่า "ผั่งเต๋" เมื่อเสร็จการเลี้ยงฉลอง จะมีการส่งตัวเจ้าสาวเจ้าบ่าวเข้าเรือนหอตามประเพณีทั่วไป

วัฒนธรรมการรับประทานอาหาร
         อาหารส่วนใหญ่ของชาวจังหวัดภูเก็ตจะเน้นไปทางด้านอาหารจีน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของ จังหวัดภูเก็ตเอง นอกจากนี้ในการ การรับประทานอาหารเช้า ชาวจังหวัดภูเก็ตจะนิยมรับประทานเป็น ขนม น้ำชา - กาแฟ หรือขนมจีน แทนการรับประทานข้าว อาหารที่มีลักษณะเฉพาะของชาวภูเก็ต ได้แก่ หมี่ฮกเกี้ยน หมี่หุ้นปาฉ่าง หมี่สั่ว กาหรี่ไหมขวัญ โอวต้าว ปอเปี๊ยะสด เสี่ยวโบ๋ย โลบะ ขนมจีน น้ำชุบหยำ น้ำพริกกุ้งเสียบ และ แกงพุงปลา เป็นต้นสำหรับขนมหวาน ได้แก่ อั่งกู้ ( ขนมเต่าสีแดง ) ฮวดโก้ย ( ขนมฟู ) โอเอ๋ว ( คล้ายวุ้น ) ตูโบ้ เกียมโก้ย และอาโป้ง ฯลฯ นอกจากนี้ภูเก็ตมีน้ำจิ้มมะม่วงที่เป็นลักษณะเฉพาะ คือ คล้ายน้ำปลาหวาน แต่ประกอบจากกะปิ น้ำตาล และซีอิ้วดำแทนน้ำปลา เรียกว่า เกลือเคย

การละเล่น
         การละเล่นพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต คือ ? รองเง็ง ? เป็นการละเล่น หรือ นาฎศิลป์ของชาวเล ที่มีการร่ายรำ และเต้นรำด้วยการเคลื่อนไหวของมือ เท้า ลำตัว ที่สัมพันธ์และสอดคล้องกัน ด้วยทำนองและเนื้อร้องของเพลงต้นโยง ที่มีเครื่องดนตรี ไวโอลิน ฆ้อง ฉิ่ง และกรับไม้ เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการแต่งกายในการละเล่น รองเง็ง นั้น ชาวเลผู้หญิงจะนุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อลูกไม้แขนยาวสีสรรฉูดฉาด ซึ่งชุดที่ใช้สวมใส่จะมีลักษณะคล้ายชุดยอหยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น