บทความที่ได้รับความนิยม

ประวัติศาลากลาง

ประวัติศาลากลางจังหวัดภูเก็ต




        ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ให้เป็นโบราณสถาน สร้างขึ้นในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต คือ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๕๖ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ได้กำหนดให้บริษัททุ่งคาคอมเปาต์เป็นผู้สร้างให้ เพื่อแลกเปลี่ยน กับการอนุญาตให้ประทานบัตรในการขุดแร่ ณ ที่ทำการรัฐบาลเก่าบริเวณถนนหลวงพ่อวัดฉลอง ถนนพังงา ถนนสุรินทร์ และถนนสุทัศน์ (หรือที่ดินบริเวณด้านหน้าไปรษณีย์โทรเลขจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน) ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้าง และบริษัททุ่งคาคอมเปาต์ได้ ให้ช่างชาวอิตาเลี่ยนเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง ดังนั้นศาลากลางจังหวัดภูเก็ตจึงเป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป และเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังแรกของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น (หนังสืออนุสรณ์ ๒๐๐ ปี วีรสตรีเมืองถลาง,๒๕๒๘) นอกจากนี้ยังเป็นศาลากลาง ที่สร้างได้แปลก และแตกต่างไปจากศาลากลางจังหวัดอื่น ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่บนเนินเขาโต๊ะแซะบริเวณด้านหน้าติดกับถนนนริศร ด้านขวาติดกับถนนสุรินทร์ และด้านหลังติดกับถนนดำรง เป็นอาคารไม้สักสองชั้น มีลักษณะเป็นคอร์ต(court) คือ อาคารที่ล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นลานกว้างเปิดโล่งไม่มีหลังคา ทำเป็นสวนหย่อม มีระเบียงรอบอาคารทั้งด้านนอก และด้านใน เดินรอบอาคารได้ทั้งสองชั้น พื้นอาคารชั้นล่างสูงกว่าพื้นดิน ๕ ขั้นบันได เสาอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด ๑๕ x ๒๐ ซม. ในขณะที่อาคารอื่น ๆ ที่สร้างในสมัยเดียวกัน จะมีเสาขนาดใหญ่ตั้งแต่ ๖๐ x ๖๐ ซม.ขึ้นไป การตกแต่งมุมเสาด้านบนตกแต่งด้วยไม้สักฉลุลวดลาย และที่เด่นสำหรับ อาคารหลังนี้ คือ เป็นอาคารที่ประกอบด้วยประตูทั้งหมด จำนวน ๙๙ ประตู แต่จะไม่มีหน้าต่าง ต่อมาในภายหลังได้มีการต่อเติมหน้าต่าง จำนวน ๒ บาน ทางมุขด้านหลังของอาคาร การตกแต่งประตูของอาคารนั้น ด้านบนของแต่ละประตูตกแต่งด้วยไม้สักฉลุเป็นลวดลายคล้ายดอกทิวลิป และสำหรับอาคารชั้นล่างนอกจากจะมีการตกแต่งประตูแบบดังกล่าวแล้ว เหนือขึ้นไปจากประตูได้ทำเป็นช่องลมเพิ่มขึ้น และตกแต่งด้วยไม้สัก ขนาดใหญ่กว่าฉลุเป็นลวดลายรูปดอกไม้อยู่ในแจกัน